การเงินระหว่างประเทศและกรณีศึกษาของ The Sandbox
แม้ว่า blockchain และ Metaverse จะเป็นเหมือนโลกใหม่ แต่ว่าแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และการเงินยังคงใช้ได้เสมอ เมื่อผู้คนมีความต้องการและเงินเป็นข้อมูล พฤติกรรมของคนก็เหมือนเดิมไม่ว่าจะอยู่ในโลกใด
กรณีศึกษาประเทศ The Sandbox
The Sandbox เป็นเกมออนไลน์ที่สร้างโลกเสมือนบนบล็อกเชน ผู้เล่นสามารถซื้อที่ดินและสินทรัพย์ดิจิทัลในโลกเสมือนได้ ซึ่งมักเรียกกันว่า Metaverse
หลักฐานความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกเก็บในบล็อกเชนในรูปแบบเป็นหน่วยข้อมูล (โทเคน) ที่มีเอกลักษณ์ หรือที่มักเรียกกันว่า Non-Fungible Token (NFT) โดยหน่วยข้อมูลที่แทนความเป็นเจ้าของที่ดิน(โฉนด) ใน The Sandbox เรียกว่า LAND
หากผู้เล่นต้องการจะซื้อ LAND จาก The Sandbox โดยตรงก็จำเป็นจะต้องใช้โทเคนของ The Sandbox ที่ชื่อว่า SAND ในการชำระเท่านั้น เมื่อได้โฉนดที่ดินมาแล้ว หากจะซื้อขายกันต่อเองโดยตรงก็สามารถเลือกโทเคนที่ใช้ชำระกันได้อย่างอิสระตามการทำงานที่เปิดกว้างของบล็อกเชน เว้นแต่จะทำการซื้อขายผ่านตัวกลางที่มีการจำกัดประเภทโทเคนที่ใช้ชำระอย่างเช่น OpenSea เป็นต้น
จากกรอบความคิดการเงินระหว่างประเทศและทฤษฏี The Impossible Trinity โทเคน SAND เป็นเสมือนสกุลเงินของประเทศ The Sandbox ผู้ใดที่ต้องการซื้อที่ดิน LAND จากประเทศนี้โดยตรงจากรัฐบาลก็ต้องใช้เงินสกุล SAND เท่านั้น จึงเป็นการสร้างความต้องการของสกุลเงินขึ้นมา
โดยทั่วไปแล้ว ผลตอบแทนของที่ดินมาจากการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ผ่านการให้เช่าที่ดินเปล่า นำไปใช้เป็นปัจจัยการผลิตเพื่อสร้างรายได้โดยตรง เช่น สร้างร้านค้า สวนสนุก หรือนำไปสร้างเป็นพื้นที่ให้เช่าตามการใช้งานที่นิยม เช่น สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตของผู้อื่นต่ออีกที ผู้คนจึงยอมซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์นั้น
แต่เนื่องจากที่ดินสามารถเปลี่ยนมือได้อย่างอิสระ สามารถนำไปขายต่อได้ไม่ว่าที่ดินนั้นจะสามารถหาประโยชน์ได้หรือไม่ก็ตาม เมื่อราคาที่ดินที่ซื้อขายกันปรับตัวสูงขึ้น ผลตอบแทนของสินทรัพย์ในประเทศ The Sandbox ก็เพิ่มขึ้นตามราคาที่ดิน แต่ก็เป็นผลตอบแทนที่ไม่ได้มาจากกำไรที่เกิดขึ้นจากตัวสินทรัพย์เอง (cash yield) แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของราคา (capital gain) ทั้งหมด
แม้ว่าจะมีสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่น เช่น เครื่องประดับ ของตกแต่งแต่เมื่อไม่ได้มีจำนวนจำกัดและอาจนำไปทำประโยชน์ต่อยอดได้ไม่มากเท่าที่ดิน ทำให้ทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศนี้มุ่งไปยังที่ดินจนราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อทุนที่ไหลเข้ามาต้องการซื้อที่ดินจากรัฐบาลเพื่อหวังผลตอบแทนที่เห็นนี้ ซึ่งต้องใช้ SAND ในการซื้อเท่านั้น ความต้องการเงินสกุล SAND จึงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของ SAND แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์หรือคริปโทเคอเรนซีและโทเคนอื่น
เนื่องจากประเทศ The Sandbox ไม่มีนโยบายทางการเงินชัดเจน อีกทั้งการทำงานของบล็อกเชนยังเปิดกว้างให้สามารถชำระค่าที่ดินด้วยสกุลเงินใดก็ได้หากเป็นธุรกรรมระหว่างกันเอง ประเทศนี้จึงสามารถเกิด payments dollarization ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งงานวิจัยของวรประภา นาควัชระ และ คณิสร์ แสงโชติ ก็พบว่าการซื้อขายที่ดินต่อ ใช้เงินสกุล Ether (ETH) เป็นหลัก ไม่ได้ใช้เงินสกุล SAND จึงหมายความว่าประเทศ The Sandbox ได้เกิด payments dollarization ขึ้นอย่างกว้างขวางแล้ว
เนื่องจากเงินสกุล SAND มีไว้เพื่อซื้อที่ดินจากรัฐบาล The Sandbox อย่างเดียวเท่านั้น การแข็งค่าของเงินสกุล SAND จึงมาจากความต้องการของที่ดินใหม่ และการแข็งค่าขึ้นของ SAND ก็ทำให้ผู้ที่ถือเงินสกุล SAND มีกำลังซื้อมากขึ้นเทียบกับผู้ที่ถือสกุลอื่น
เมื่อเหล่าคนที่ถือเงินสกุล SAND ต้องไปประมูลซื้อที่ดินในสถานที่ ๆ สามารถเลือกสกุลเงินในการชำระได้ เช่น OpenSea พวกเขาจึงสามารถชนะประมูลได้ในราคาที่สูงกว่าคนอื่นเมื่อเทียบเป็นสกุลเงินที่ไม่ใช่เงินสกุล SAND เช่น ดอลลาร์เพราะสำหรับพวกเขา การที่เงินสกุล SAND แข็งค่ามามากทำให้ราคาที่ดินที่ประมูลมาได้ไม่ได้สูงขนาดนั้น เหมือนนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ค่าเงินแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องเดินทางไปยังประเทศที่ค่าเงินอ่อน เงินหนึ่งหน่วยของเขาจึงสามารถซื้อสินค้าและบริการได้มาก
ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หลัง Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น Meta ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2021 เงินสกุล SAND ของประเทศ The Sandbox แข็งค่าขึ้นมากกว่า 200 เท่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และมากกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับ Ether ทำให้การซื้อขายที่ดินผ่าน OpenSea คึกคักมาก งานวิจัยของวรประภา นาควัชระ และ คณิสร์ แสงโชติ พบว่าผู้ซื้อที่จ่ายเป็นเงินสกุล SAND ได้ LAND ไปด้วยราคาดอลลาร์ที่สูงกว่าผู้จ่ายด้วยเงินสกุล Ether ประมาณ 3.4%
ความต้องการเงินสกุล SAND เพื่อไปซื้อที่ดิน LAND ทำให้เงินสกุล SAND แข็งค่าขึ้น และการที่เงินสกุล SAND แข็งค่าขึ้น ก็ทำให้การซื้อขาย LAND เกิดขึ้นได้ในราคาที่สูงขึ้นด้วย
กลไกนี้คือตัวอย่างของ “การสะท้อนกลับ” (Reflexivity) ที่นักลงทุนมือฉมัง George Soros ได้เรียกว่าทฤษฏี General Theory of Reflexivity ซึ่งอธิบายว่านักลงทุนไม่ได้ตัดสินใจตามความเป็นจริง แต่จากสิ่งที่คิดว่าเป็นจริงต่างหาก ซึ่งอาจทำให้เกิดกลไกที่ก่อให้เกิดฟองสบู่ได้
ในอดีต แนวคิดเรื่องฟองสบู่มักไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักเศรษฐศาสตร์เพราะขัดต่อความเชื่อว่าผู้คนในระบบเศรษฐกิจตัดสินใจและกระทำอย่างมีเหตุผล แต่อย่างไรก็ตาม ในทฤษฏีของ Soros นั้น นักลงทุนตัดสินใจอย่างมีเหตุผล เพียงแต่ข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นจริงต่างหาก
Soros ได้นำเสนอแนวคิดนี้ตั้งแต่ก่อนวิกฤต Subprime ปี 2008 โดยได้ยกกรณีฟองสบู่อสังหา ฯ ในประเทศอเมริกาเป็นตัวอย่าง ซึ่งไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดวิกฤตการเงินขึ้น
ในบริบทของสกุลเงินของประเทศ ความต้องการใช้สกุลเงินนั้นมาจากหลายเหตุผล ทั้งการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการ ซื้อสินทรัพย์ที่เป็นปัจจัยทางการผลิตและสินทรัพย์ทางการเงิน หรือนำไปชำระภาษี อีกทั้งเงินที่ใช้ในระบบเศรษฐกิจจริงมีหลายรูปแบบ และมักมีการหนุนหลังอย่างพอเพียงด้วย เช่น เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ เป็นหนี้สินระหว่างผู้ฝากและธนาคาร และถูกหนุนหลังด้วยสินเชื่อและสำรองของธนาคาร ซึ่งเป็นเงินใน (inside money)
แต่เงินสกุล SAND ที่ใช้กันทัังหมดเป็นข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นมาเองโดยไม่มีสิ่งใดหนุนหลัง ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงหนี้สินระหว่างใครกับใคร เป็นเงินนอก (outside money) ความต้องการใช้เงินมาจากความต้องการซื้อที่ดิน LAND เท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุล SAND จึงมีความสัมพันธ์กับราคาที่ดิน LAND ซึ่ง วรประภา นาควัชระ และ คณิสร์ แสงโชติ พบว่าค่าสหสัมพันธ์ระหว่างราคา SAND และดัชนีราคาที่ดิน LAND สูงถึง 0.9779 เลย (ค่าสูงสุด 1.00 หมายความว่าค่าทั้งสองขึ้นและลงด้วยกันตลอดเวลา)