เงินทองของมีค่า 6/n
ในปัจจุบันมีเงินหลากหลายรูปแบบมาก ใน newsletter ชุดนี้ เราจะชวนคุยกันว่าเงินคืออะไร ทำไมต้องมีเงิน เพื่อให้เห็นถึงแก่นของปัญหาที่นำมาซึ่งการแก้ไขด้วยเงินครับ
มาตรฐานช่วยสร้างการยอมรับ
กระดาษในยุคแรกทำจากกัญชง แต่เมื่อมีความต้องการมากจึงได้มีพัฒนาการเพื่อลดเวลาและต้นทุนในกระบวนการผลิต จากกัญชงมาสู่หวาย และจากหวายมาสู่ไผ่ซึ่งมีอยู่แพร่หลายและโตได้เร็ว
เดิมทีการใช้งานกระดาษจำเป็นต้องวาดและเขียนด้วยพู่กัน แต่ในช่วงราชวงศ์ถังศตวรรษที่ 7 พิมพ์แกะไม้ (woodblock printing) ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทำให้การใช้งานกระดาษเพิ่มมากขึ้นด้วย และก็มีการใช้กระดาษเป็นสื่อในการเก็บกำลังซื้อของเงินเหมือนกัน
ในยุคนั้น ชาวจีนก็ยังพึ่งพาเงินเหรียญทองแดงอยู่ แม้ว่าการเจาะรูตรงกลางจะทำให้สามารถร้อยเงินแล้วพกพาได้ง่าย แต่ทองแดงก็มีน้ำหนักและเหรียญเองก็ไม่ได้มีมูลค่าสูงมาก การพกพาจำนวนมากจึงทั้งหนักและเทอะทะ ไม่สะดวกกับการเดินทางระยะไกล และยังเสี่ยงต่อการถูกปล้นชิงอีกด้วย จึงมีกลุ่มพ่อค้ารับฝากเงินแล้วออกใบเสร็จรับฝากให้เพื่อนำขึ้นเงินที่ปลายทาง ก็เกิดความสะดวกสบายขึ้น กระดาษนี้เรียกกันว่า “เงินปลิว” (飛錢) เพราะเบามากจนปลิวได้ ครั้งแรกออกมาโดยไม่ได้มีความตั้งใจให้เป็นเงิน แต่เป็นเพียงเครื่องมืออำนวยความสะดวกกันเองในหมู่พ่อค้าเท่านั้น เป็นหนี้สินระหว่างผู้ออกกระดาษและผู้ถือกระดาษ
เมื่อราชวงศ์ถังล่มสลาย จีนได้แตกออกเป็นออกเป็นอาณาจักรเล็กน้อยมากมาย การที่แต่ละอาณาจักรมีสินแร่ไม่เท่ากัน ทำให้ปริมาณทองแดงไม่พอ ต้นทุนในการผลิตเงินสูงขึ้น เหล็กจึงถูกนำมาใช้เป็นวัสดุในการผลิตเหรียญเช่นกัน คล้ายกับสมัยยุคราชวงศ์ซ่ง พ่อค้าในแถบมณฑลเสฉวนก็พิมพ์เงินกระดาษเพื่อเป็นใบรับฝากเหรียญอีกเช่นกัน ในยุคนี้ใช้ชื่อแตกต่างกันเพื่อเรียกเงิน (交子) และมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกระดาษนี้อย่างกว้างขวางขึ้นและใช้เพื่อชำระหนี้ได้ จึงทำให้กระดาษมีความคล้ายเงินมากขึ้น
แต่กระดาษของพ่อค้าแต่ละรายก็ไม่ได้มีมาตรฐาน บ้างก็มูลค่ามาก บ้างก็มูลค่าน้อย จนกระทั่งกลุ่มพ่อค้ารายใหญ่รวมตัวกันเพื่อกำหนดมาตรฐานจนกลายมาเป็นธนบัตรกระดาษ (交子戶) ที่มีหน่วยชัดเจน ซึ่งแม้ว่าจะพิมพ์โดยเอกชน แต่ก็ใช้กันแพร่หลายจนได้รับการยอมรับจากภาครัฐ
นอกจากนำมาแลกเหรียญทองแดงแล้ว ธนบัตรกระดาษในยุคนั้นสามารถนำไปแลกตั๋วเว้นภาษี (度牒) ทองคำ และแร่เงินได้ ทำให้เป็นที่นิยมกันในวงกว้างมากกว่าแค่หมู่พ่อค้า แม้จะเป็นหนี้สินที่ในคราวแรกตั้งใจจะใช้กันเองในกลุ่มพ่อค้า แต่เมื่อมีความเป็นมาตรฐานก็ทำให้สามารถเปลี่ยนมือกันได้ในวงกว้างจนสามารถใช้แทนเงินทางการที่ยุคนั้นมีเพียงแค่ทองคำและเหรียญทองแดงได้ในที่สุด
ธนบัตรแท้แต่ปลอม
ในยุคเงินกระดาษ ความแท้ไม่ได้อยู่กับวัสดุเหมือนกับเงินสัญลักษณ์ที่ใช้วัสดุตามธรรมชาติ เป็นวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง ทำให้สามารถปลอมได้ง่ายกว่า การพิสูจน์ความแท้จึงมาจากการตีตรา เช่น ใช้ลวดลายและหมึกสีตามที่กำหนด ซึ่งพิมพ์แกะไม้ทำให้ช่วยสร้างความเป็นมาตรฐานนี้ได้ แต่เนื่องจากเงินกระดาษเป็นหนี้สินของร้านรับฝากเงินที่จะต้องแลกกระดาษคืนเป็นเหรียญให้ได้ (convertibility) ผลของการไม่สามารถแลกคืนได้จึงเสมือนว่าเงินกระดาษเป็นเงินปลอมที่ไม่มีสิ่งใดหนุนหลังอยู่จริง
เมื่อเหล่าพ่อค้าเห็นว่าธนบัตรกระดาษใช้แพร่หลายจนไม่เห็นมีใครนำกระดาษมาแลกเหรียญทองแดงเลย หากจะพิมพ์ธนบัตรมาใช้เสียเองโดยไม่มีใครนำเหรียญทองแดงมาฝาก จะมีใครทราบได้ในเมื่อไม่มีใครสามารถมาตรวจสอบได้ว่าพ่อค้ารับฝากเงินมีเหรียญอยู่ในคลังเท่าไรกันแน่ ก็อาจเกิดความชะล่าใจจนพิมพ์ธนบัตรกระดาษมาใช้เองได้
แต่เนื่องจากธนบัตรกระดาษเป็นหนี้สินของร้านรับฝากเงิน หากฐานะการเงินของผู้ออกเป็นที่สงสัย ความมั่นใจในกระดาษก็ย่อมสั่นคลอนตามไปด้วย ยิ่งถ้าผู้คนแห่ไปแลกธนบัตรเป็นเหรียญ ย่อมสามารถเร่งให้ความมั่นใจนั้นหดหายไปได้หากเหรียญทองแดงร่อยหรอ ทำให้ธนบัตรในยุคนั้นมีความคล้ายบัญชีเงินฝากในปัจจุบัน เพราะกระดาษนั้นเป็นหลักฐานของการฝากเงินที่แม้ว่าผู้ถือกระดาษจะไม่ได้เป็นคนฝากเงินเอง แต่ผู้ถือเป็นคนที่มีสิทธิ์ในการถอน และเมื่อธนบัตรกระดาษเป็นที่ยอมรับ ผู้ถือเงินก็มีสิทธิ์ไปใช้ชำระได้ ทำให้จัดเป็น bearer instrument ประเภทหนึ่งซึ่งมีประโยชน์คล้ายเงินนอกที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ไม่ต้องขออนุญาตในการใช้ ไม่ต้องพึ่งพาความทรงจำ ไม่ต้องสืบทราบตัวตน (permissionless, memoryless, anonymous money)
ร้านแลกเงินเหล่านี้จึงมีความคล้ายธนาคาร และมีความเสี่ยงต่อการล้มเหลวจากการแห่ไถ่ถอนเงินคล้ายกันตามไปด้วย ทำให้สามารถพิจารณาเป็น “ธนาคารเงา” (shadow bank) ได้ แม้ว่าสถานะจะไม่ใช่ธนาคาร แต่ก็มีพฤติกรรมคล้ายธนาคารที่สามารถนำเงินอนาคตมาใช้ล่วงหน้าก่อนได้ด้วยการก่อหนี้ที่ถูกนำมาใช้แพร่หลายเป็นเงิน ดั่งที่ J.P. Morgan ได้กล่าวไว้นั่นเอง
ธนบัตรเป็นการแปลงข้อมูลกำลังซื้อข้ามประเภทของสื่อที่ใช้เก็บข้อมูล ความมั่นใจในธนบัตรจึงไม่ได้มาจากการตีตรากระดาษ แต่มาจากความมั่นใจว่าธนบัตรจะมีประโยชน์ สามารถใช้ได้ เป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่งผู้พิมพ์ธนบัตรอาจเสริมความมั่นใจนั้นด้วยการพิสูจน์ว่าสามารถส่งมอบกำลังซื้อตามความคาดหวังได้ เช่น หากสามารถแสดงให้เห็นว่ามีสำรองเหรียญทองแดงเพียงพอ หรือเพียงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคนได้แม้ว่าจะไม่ต้องแสดงสำรองก็ตาม หากผู้คนมั่นใจในมูลค่า ธนบัตรนั้นก็จะมีค่า
การพิมพ์เงินปลอมมักชวนให้เข้าใจว่าเป็นการพิมพ์เงินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐและเป็นเรื่องผิดกฏหมายทำให้มีธนบัตรปลอมปะปนในระบบ แต่ในยุคแรก ๆ ที่มีการใช้ธนบัตรกันอย่างแพร่หลายแท้จริงแล้วเป็นธนบัตรของเอกชน แม้ว่าบนธนบัตรจะมีการตีตราเป็นเครื่องพิสูจน์ความแท้ แต่หากไม่สามารถแลกกลับเป็นเหรียญทองแดงได้ ธนบัตรที่ตีตราว่าแท้ก็ถือว่าเป็น “ธนบัตรปลอม” เพราะกำลังซื้อที่ธนบัตรควรสะท้อนไม่มีอยู่จริง ซึ่งความสามารถในการแลก (convertibility) นี้นั่นเองเป็นสิ่งที่ทำให้ธนบัตรมีค่าไม่ว่าจะเป็นธนบัตรที่เอกชนหรือรัฐพิมพ์ หากรัฐเป็นผู้พิมพ์ก็อาจแลกกับการชำระภาษี ส่วนหากเอกชนเป็นผู้พิมพ์ ก็นำไปแลกกับเงินของรัฐ เป็นต้น ในปัจจุบัน รัฐมักเป็นผู้พิมพ์ธนบัตรแต่เพียงผู้เดียว แต่ก็ยังมีหลายระบบที่เอกชนเป็นผู้พิมพ์ธนบัตรด้วย
ความปลอมของธนบัตรในรูปแบบนี้ ไม่ได้ทำให้มีธนบัตรแท้และปลอมปนกันเหมือนพิมพ์ธนบัตรปลอมโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตที่มักคุ้นเคยกัน เพราะหากผู้ได้รับอนุญาตกลับพิมพ์ “ของปลอม” ที่ไม่มีความสามารถในการแลกเสียเอง ก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในธนบัตรทุกฉบับที่มีว่าจะแท้จริงแล้วมีมูลค่าแค่ไหน สามารถแลกคืนเป็นอะไรได้บ้าง เพราะในบริบทนี้ ธนบัตรทุกฉบับล้วนแล้วแต่เป็นหนี้สินของผู้พิมพ์ธนบัตรทั้งนั้น หนี้ที่ไม่มีการค้ำประกันอย่างเพียงพอและไม่สามารถชำระได้ครบถ้วน ก็ต้องกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด