เงินทองของมีค่า 5/n
ในปัจจุบันมีเงินหลากหลายรูปแบบมาก ใน newsletter ชุดนี้ เราจะชวนคุยกันว่าเงินคืออะไร ทำไมต้องมีเงิน เพื่อให้เห็นถึงแก่นของปัญหาที่นำมาซึ่งการแก้ไขด้วยเงินครับ
เหรียญเปลี่ยนชีวิต
เรื่องราวความเป็นเจ้าของก้อนหิน rai stone ที่เล่าสืบต่อกันอาจเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในหมู่บ้านหนึ่ง แต่เมื่อข้ามไปอีกหมู่บ้านหนึ่งอาจไม่ได้รับการยอมรับก็ได้ การพึ่งพาเงินข้อมูลจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างได้ก็ต่อเมื่อฐานข้อมูลสามารถทำงานข้ามกันได้ (interoperable) และสังคมไม่ขัดข้องที่จะให้เงินเป็นหน่วยความทรงจำ (memory unit) ของหนี้สินระหว่างกันที่สามารถสืบทราบเส้นทางของหนี้สินและยังสามารถระบุตัวตนได้ แต่เงินสัญลักษณ์ (token-based money) ที่เป็นเงินที่ผนวกกำลังซื้อกับสื่อกลางทางกายภาพ ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาความทรงจำ (memoryless) และไม่ต้องเปิดเผยตัวตน (anonymous) ซึ่งหากสังคมต้องการคุณลักษณ์ะนี้ เงินข้อมูลก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด
เงินข้อมูลสามารถแบ่งเสี้ยวได้ แต่เงินสัญลักษณ์ล่ะ สามารถแบ่งได้หรือไม่ คำตอบย่อมขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ เมื่อเงินสัญลักษณ์มีความจำเป็น วัสดุที่เหมาะเป็นเงินก็ควรสามารถแบ่งย่อยได้ง่ายและพกพาสะดวกด้วย
ในยุคที่ทองคำเป็นเงิน ปัญหาที่มักพบคือทองคำมีมูลค่าที่สูงเทียบกับปริมาตร หากทองคำถูกแปรรูปเป็นแท่ง (bullion) การนำทองคำแท่งมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอาจเกินความจำเป็น เพราะสิ่งที่ซื้ออาจไม่ได้มีมูลค่าสูงเท่าทองคำแท่งนั้น แต่หากพ่อค้าแม่ค้าจะทอนให้ จะทอนด้วยอะไรหากเงินในระบบเศรษฐกิจนั้นมีแต่ทองคำแท่ง
หน่วยเงินที่ย่อยที่สุดจะเป็นเครื่องกำหนดราคาและความสามารถในการเปลี่ยนแปลงราคา หากประเทศไทยมีแต่เงินสด และการเหรียญขั้นต่ำมีแต่เหรียญ 5 บาทเท่านั้น การปรับราคาขั้นต่ำในแต่ละครั้งก็ต้องปรับทีละ 5 บาท การชำระเงินขั้นต่ำก็ต้องทีละ 5 บาท หากต้องการขายที่ราคาต่ำกว่า 5 บาทก็คงต้องขายครั้งละหลาย ๆ ชิ้น ปัญหาเหล่านี้ได้หมดไปแล้วในบริบทของปัจจุบัน แต่ในอดีต ความไม่สะดวกในการชำระถือเป็นอุปสรรคหนึ่งที่นำมาซึ่งนวัตกรรมทางการเงินมากมาย
เหรียญที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกคือเหรียญของอาณาจักรลิเดีย (บริเวณตะวันตกในประเทศตุรกีในปัจจุบัน) ในยุค 600 ปีก่อนคริสตกาล เป็นเหรียญที่หลอมมาจากทองคำและเงินแท้ ในยุคนั้นมีเหรียญหลายขนาด แบ่งย่อย (division) หรือแบ่งเสี้ยว (fractionalization) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ในหลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันหรือเพื่อการเก็บออมในฐานะรักษามูลค่า (store of value) ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะเทคโนโลยีในการหลอมโลหะ (smelting) เพื่อกษาปณ์เหรียญ (minting)
ในปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษามูลค่ามากมาย เมื่อได้เงินมาแล้วไม่จำเป็นถือเป็นเงิน แต่สามารถนำไปแปลงเป็นสินทรัพย์การเงินรูปแบบอื่นได้ เช่น บัญชีเงินฝาก กองทุนรวม หุ้นสามัญ แต่ในบริบทของสังคมในอดีต การมีวัตถุคงทน (durable) ไม่เน่าเสียหรือเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา (nonperishable) ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ดีมากแล้ว
ในปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษามูลค่ามากมาย เมื่อได้เงินมาแล้วไม่จำเป็นถือเป็นเงิน แต่สามารถนำไปแปลงเป็นสินทรัพย์การเงินรูปแบบอื่นได้ เช่น บัญชีเงินฝาก กองทุนรวม หุ้นสามัญ แต่ในบริบทของสังคมในอดีต การมีวัตถุคงทน (durable) ไม่เน่าเสียหรือเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา (nonperishable) ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ดีมากแล้ว
เงินและทองคำที่ทั้งสวยงามน่าพิศมัย (desirable) เป็นที่ต้องการ คงทนไม่ผุพังเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่สามารถนำไปขึ้นรูป (malleable) เพื่อแบ่งย่อยได้ และหายากมากพอ จึงกลายเป็นเงินนอก (outside money) ที่ตอบโจทย์ในยุคนั้น
นานแค่ไหนมนุษย์ถึงเริ่มใช้เงินกระดาษ
เงินสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมักมีความหายาก การสร้างความยอมรับในมูลค่าจึงสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเพราะไม่สามารถผลิตขึ้นมาได้เองโดยง่าย แต่เมื่อสังคมได้ยอมรับมูลค่าของสิ่งนั้นไปแล้วแต่ด้วยคุณลักษณะทางกายภาพของวัสดุบางประเภทจึงทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้งาน
ตัวอย่างของเงินก้อนหิน rai stone จึงเป็นเรื่องราวของการเปลี่ยนสื่อที่เก็บมูลค่า แปลงรูปแบบของเงินไปเป็นเงินบัญชี (account-based money) ส่วนตัวอย่างของเหรียญจึงเป็นเแปลงสภาพวัสดุให้มีขนาดย่อลงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งย่อยของมูลค่า แต่ก็ยังคงความเป็นเงินสัญลักษณ์ไว้ (token-based money) แต่หากมนุษย์ยอมรับการเก็บข้อมูลในสื่อรูปแบบใหม่ได้ เราสามารถสร้างสื่อด้วยวัสดุใหม่เพื่อให้ยังคงความเงินสัญลักษณ์ โดยที่มูลค่าไม่ได้มาจากตัววัสดุที่ใช้เป็นสื่อแต่อ้างอิงจากกำลังซื้อที่อยู่ที่อื่นได้หรือไม่
อักษรรูปลิ่มหรืออักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform) เกิดขึ้นราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาลในดินแดนเมโสโปเตเมีย เป็นต้นแบบของการบันทึกข้อมูลที่นำมาสู่ตัวอักษร หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าแผ่นดินเหนียวมาการใช้มานานกว่า 8,000 ก่อนคริสตกาล แต่มักใช้เพื่อการนับ ตัวอักษรทำให้ความสามารถในการสื่อสารผ่านการเขียนและบันทึกข้อมูลสามารถเล่าเรื่องราวที่ลุ่มลึกได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงธุรกรรมที่มีระหว่างกันด้วย เช่น การกู้ยืม สัญญาซื้อขาย หลักฐานความเป็นเจ้าของ ไปจนถึงประกาศกติกาที่มีระหว่างกันในสังคม เป็นต้น
การบันทึกข้อมูลความเป็นเจ้าของเงินก้อนหินลงในความทรงจำร่วมของคนในหมู่บ้าน ทำให้สามารถแปลงรูปแบบและสื่อของเงินได้ แต่ความสามารถในการบันทึกอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการใช้งานเป็นเงิน เพราะแผ่นดินเหนียวอาจไม่ได้สะดวกต่อการพกพาและใช้งาน ความสะดวกสบายของสื่อใหม่ที่จะนำมาใช้งานจึงส่งผลต่อการยอมรับด้วย
ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์คิดค้นการผลิตกระดาษปาปิรุส แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่านำมาใช้แทนเงิน แต่กลับขายกระดาษที่ผลิตได้แทน เพราะยุคนั้นชาวอียิปต์ใช้ผลิตผลทางเกษตรแทนเงิน ต่อมาในศตวรรษที่ 2 ชาวจีนก็ได้คิดค้นการผลิตกระดาษด้วยกรรมวิธีที่ใกล้เคียงกับที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ในช่วงแรกกระดาษถูกนำไปใช้กับศิลปะและวรรณกรรมและเป็นสินค้าส่งออกมากกว่า
ในปัจจุบัน กระดาษเป็นสื่อในการบันทึกข้อมูลที่ทั้งสะดวกและต้นทุนต่ำมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับสื่ออื่นในยุคนั้น เช่น แผ่นไม้ที่ใช้งานลำบาก หรือผ้าไหมที่มีค่ามาก กระดาษก็ถือว่าเป็นวัสดุที่ราคาไม่ได้ต่ำมากแต่สร้างความสะดวกต่อการใช้งาน ทำให้เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก ประกอบกับที่ในยุคนั้น ชาวจีนมีเงินสัญลักษณ์ที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้วจากการปฏิรูประบบการเงินโดยฉินซีฮ่องเต้ เป็นเงินทองคำทรงเรือ (黄金) เป็นหน่วยใหญ่และเงินทองแดง (铜钱) รูปทรงวงกลมเจาะรูสี่เหลี่ยมตรงกลางเป็นหน่วยย่อย ทำให้การใช้กระดาษที่มีค่ามาบันทึกข้อมูลของเงินจึงอาจจะไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้คนมากนักในช่วงแรก