สามเส้าที่เข้ากันไม่ได้ 2/n
ในส่วนที่ 2 เราจะมาดูเรื่องความสำคัญของสกุลเงินและนัยต่อ "อธิปไตยทางการเงิน" หรือ monetary sovereignty ครับ ซึ่ง keyword สำคัญของ newsletter ฉบับนี้คือคำว่า "dollarization" ครับ
ทำไมประเทศไทยถึงไม่ใช้ดอลลาร์เป็นสกุลเงิน
เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินถูกตรึงไว้และสามารถแลกเปลี่ยนไปมาได้อย่างอิสระ การจะรับเงินสกุลใดก็ไม่มีความหมายเพราะเป็นการแปลงหน่วยเท่านั้น
สกุลเงินเป็นหน่วยวัดทางบัญชีที่ตกลงใช้กันในระบบเศรษฐกิจนั้น สมมุติว่าเราทำธุรกิจแล้วคู่ค้าต้องการชำระเป็นสกุลเงินต่างประเทศ หากชำระมาในมูลค่าที่เพียงพอต่อสินค้าและบริการที่เราได้ให้ไป จำเป็นไหมที่เราจะต้องยืนยันว่าให้ลูกค้าชำระเป็นสกุลบาทเท่านั้น
หากทุกคนในประเทศยินดีรับชำระด้วยทุกสกุลเงิน และปรากฏว่าสกุลเงินที่นิยมเป็นคือดอลลาร์ เป็นได้ไหมที่สกุลเงินที่ใช้งานแพร่หลายที่สุดในประเทศจะกลายเป็นดอลลาร์ และเป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจะหันมาใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นมาตรฐานในการทำธุรกรรมต่าง ๆ
คำตอบของสองคำถามนี้คือ “เป็นไปได้” ที่ประชาชนจะเลือกใช้สกุลเงินดอลลาร์มากกว่า และ “เป็นไปได้” ที่จะประเทศไทยเลิกใช้สกุลเงินบาท แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ เราอยากให้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ ด้วยเหตุใดประเทศไทยจึงยังรักษาสกุลเงินบาทไว้ และหลาย ๆ ประเทศเองเช่นกัน
หลายประเทศมักมีสกุลเงินเป็นของตนเอง และนักเศรษฐศาสตร์เรียกการที่สกุลเงินต่างประเทศถูกใช้อย่างแพร่หลายในระบบเศรษฐกิจว่า Dollarization ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องเป็นดอลลาร์ก็ได้ แต่เรียกเช่นนี้เพราะอิทธิพลของดอลลาร์ที่มีต่อระบบการเงินของโลกและเป็นสกุลเงินที่ประเทศมักเลือกใช้เมื่อสกุลเงินของตนไม่เป็นที่ต้องการ จึงจะขอใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นคำแทนสกุลเงินต่างประเทศทั้งหมด
ระดับของ Dollarization สามารถแบ่งเป็นสามระดับ ได้แก่ (1) payments dollarization คือการรับชำระด้วยดอลลาร์ (2) financial dollarization คือการถือกำลังซื้อที่มีเป็นดอลลาร์ และ (3) real dollarization คือการกำหนดราคาและจ่ายค่าจ้างเป็นดอลลาร์
เมื่อพิจารณาเช่นนี้ Dollarization เป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจโลกที่มีการเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว เมืองท่องเที่ยวที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศและอำนวยความสะดวกให้ชำระด้วยสกุลเงินต่างประเทศได้ก็ถือว่าเกิด payments dollarization ขึ้น การที่นักลงทุนในประเทศลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศก็ถือว่าเป็น financial dollarization ผลกระทบก็จะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของ Dollarization ว่าเป็นสัดส่วนเท่าไรของธุรกรรมทั้งหมด การใช้ดอลลาร์อย่างเป็นทางการและทิ้งสกุลเงินท้องถิ่นไปจึงเรียกว่า Full Dollarization เพราะครบทุกรูปแบบอย่างเต็มสัดส่วนทั้งสามระดับ
หากต้องการลด payments dollarization ประเทศอาจกำหนดว่าการชำระค่าสินค้าและบริการที่ถูกต้องตามกฏหมาย (legal tender) จะต้องเป็นสกุลเงินท้องถิ่นเท่านั้น แต่หากนักท่องเที่ยวสามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างอิสระ ข้อกำหนดนี้ก็เป็นเพียงการสร้างขั้นตอนเพิ่มเติมเพื่อลดความสะดวกเท่านั้น เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวแลกจากสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินท้องถิ่นเพื่อชำระ ซึ่งบางครั้งผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้บริการแลกเงินให้เองเลยด้วยซ้ำ การชำระนั้นก็ถือว่าเป็นการชำระด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ทั้ง ๆ ที่นักท่องเที่ยวชำระด้วยสกุลเงินของตน
หากสร้างกติกาในการใช้สกุลเงินท้องถิ่นให้กว้างขวางกว่านั้น เช่น การชำระหนี้สิน ไปจนถึงการจ่ายภาษี ก็จะทำให้การถือเงินหลายสกุลในประเทศกลายเป็นความวุ่นวายมากกว่าความสะดวก แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม เมื่อสินค้าและบริการ การทำสัญญาระหว่างกัน ไปจนถึงการค่าจ้าง เกิดขึ้นในสกุลใด้แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องไปใช้สกุลเงินอื่นมากมายในระบบเศรษฐกิจ ใช้สกุลเงินที่เป็นมาตรฐานสกุลเดียวก็พอแล้ว
ในปัจจุบันเราอาจไม่จำเป็นต้องสงสัยว่าทำไมแต่ละประเทศถึงมีสกุลเงินท้องถิ่นเพราะเป็นสิ่งที่คุ้นชินกันโดยปริยายไปแล้ว แต่การมีสกุลเงินเป็นสัญลักษณ์ของชาติบนธนบัตรและเหรียญกษาปน์ของทุกประเทศก็มักมีสัญลักษณ์ที่สำคัญของประเทศปรากฏอยู่เป็นที่ประจักษ์ มีการกษาปณ์เหรียญหรือพิมพ์ธนบัตรเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ จึงทำให้การมีสกุลเงินท้องถิ่นมีนัยทางสังคมและการเมืองด้วย
ที่มา: Platinum Jubilee: First banknote with picture of the Queen auctioned | Metro News
ในบางครั้ง ประเทศอาจต้องการสร้างมั่นใจในสกุลเงินให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งอาจพึ่งพากลไกกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินท้องถิ่นกับสกุลเงินอื่น และในบางครั้งอาจมีกลุ่มประเทศที่ตกลงร่วมกันว่าจะตรึงอัตราและเปลี่ยนระหว่างกัน ซึ่งก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ผ่านกลไกมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) หรือสหภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Monetary Union)
เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินถูกตรึงไว้และสามารถแลกเปลี่ยนไปมาได้อย่างอิสระ การจะรับเงินสกุลใดก็ไม่มีความหมายเพราะเป็นการแปลงหน่วยเท่านั้น หรือจะใช้สกุลเดียวไปเลยก็ยังได้ ซึ่งในกรณีของสหภาพทางการเงินยุโรป (European Monetary Union) ก็ได้ตัดสินใจใช้สกุลเงินเดียวกันคือสกุลยูโร ซึ่งการที่แต่ละประเทศทิ้งสกุลเงินเดิมก็ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ทำให้การตัดสินใจอย่างเป็นรูปธรรมนี้มีนัยทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองด้วย
ส่วนในกรณีของมาตรฐานทองคำ แต่ละประเทศก็ยังมีสกุลเงินของตนอยู่ แต่เมื่อถูกตรึงอัตราและเปลี่ยนไว้ การรับเงินปอนด์ก็เหมือนการรับเงินดอลลาร์ เพราะ 1 ปอนด์เท่ากับ 113 grain ในขณะที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 23.22 grain มูลค่าของเงินที่เท่ากันก็คือปริมาณทองคำที่เท่ากันไม่ว่าจะรับด้วยสกุลใด การค้าขายระหว่างประเทศก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสะดวก แต่ก็จะเกิดปัญหาขึ้นเมื่อแต่ละประเทศมีปริมาณทองไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินเพื่อทำธุรกรรม ตามบทเรียนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุค 1930s
ในบริบทของทฤษฏี Impossible Trinity การใช้สกุลเงินต่างประเทศเป็นเสมือนการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนของตนไว้กับสกุลเงินอื่นอย่างสมบูรณ์ และเป็นการทำให้ให้เงินทุนเข้าออกประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนที่อัตรานั้นได้อย่างอิสระโดยปริยายเพราะเป็นเนื้อเดียวกัน ได้ผลเดียวกับการมีสกุลเงินท้องถิ่นแต่สามารถแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินต่างประเทศได้ตลอดเวลา แต่แตกต่างกันที่ความมุ่งมั่นเพราะ Full Dollarization ซึ่งก็คือการทำลายธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เดิมที่ใช้งานเดิม เปรียบเสมือนการเผาสะพานทำให้ไม่สามารถข้ามกลับไปได้ง่าย ๆ จะไม่มีสกุลเงินเดิมหลงเหลือในระบบให้มาเปลี่ยนการตัดสินใจภายหลังได้แล้ว และเมื่อได้เลือกสองเส้าจากสามไปแล้ว ประเทศนั้นก็ต้องสูญเสียความสามารถในการกำหนดราคาระหว่างเงินในปัจจุบันกับเงินในอนาคตไปทันที
การสูญเสียความสามารถในลักษณะมักกล่าวกันว่าเป็นการสูญเสียอธิปไตยทางการเงิน (monetary sovereignty) เพราะไม่สามารถกำหนดราคาของเงินได้ สามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าประเทศจะยังมีสกุลเงินท้องถิ่นแต่ตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ แต่ในกรณีของ Full Dollarization ที่มีการละทิ้งสกุลเงินท้องถิ่นไปด้วย จึงมีนัยเชิงสัญลักษณ์ของการสูญเสียอธิปไตยทางการเงินเพิ่มเติมขึ้นมาด้วย
อย่างที่เห็นก่อนหน้านี้ ราคาระหว่างเงินในปัจจุบันกับเงินในอนาคตสามารถส่งผลการต่อแรงจูงใจของผู้คนในการใช้จ่าย ออม ลงทุน และระดมทุนได้ การสูญเสียเครื่องมือนี้ไปจึงเป็นการปล่อยให้เศรษฐกิจต้องเป็นไปตามยถากรรมตามการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงไม่เป็นที่นิยมนัก เว้นแต่ว่าประชาชนจะสูญสิ้นศรัทธาในสกุลเงินท้องถิ่นจนจำเป็นต้องหยิบยืมความน่าเชื่อถือมาจากต่างประเทศ หรือต้องการเอาใจนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก เช่น ปานามา เอกวาดอร์ และเอลซัลวาดอร์ เป็นต้น