เงินทองของมีค่า 2/n
ในปัจจุบันมีเงินหลากหลายรูปแบบมาก ใน newsletter ชุดนี้ เราจะชวนคุยกันว่าเงินคืออะไร ทำไมต้องมีเงิน เพื่อให้เห็นถึงแก่นของปัญหาที่นำมาซึ่งการแก้ไขด้วยเงินครับ
บุญคุณ (ทำไม) ต้องทดแทน
ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องทองคำ อยากชวนผู้อ่านคิดว่า บุญคุณระหว่างคนห่างคนไกล ไม่รู้จักกัน ทำไมเราถึงต้องรับทดแทนด้วย บุญคุณมักเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคนรู้จักกัน การรับชำระทดแทนบุญคุณระหว่างคนในจึงเป็นเรื่องง่าย แต่หากเราเป็นคนนอกที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรด้วย ทำไมจะต้องทดแทนบุญคุณที่ใครบางคนสร้างขึ้นกับคนอื่น และทำไมผู้อื่นจะต้องยอมรับบุญคุณใหม่ที่เราได้สร้างขึ้นด้วย
เมื่อบุญคุณเป็นสิ่งที่โอนให้กันไม่ได้ง่าย ๆ การใช้บุญคุณแทนเงินจึงมีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถใช้ชำระได้อย่างแพร่หลาย หากพิจารณาบุญคุณเป็นสัญญาระหว่างกัน แม้ว่าคนในจะยอมรับให้สามารถนำมาแลกเป็นกำลังซื้อได้ แต่คนนอกก็ไม่มีความจำเป็นต้องยอมรับรู้หรือทำตามสัญญานั้นเลยถ้าไม่ได้กฏกติกาใด
อุปสรรคเกิดขึ้นทันทีหากเราไม่มีความสามารถในการผูกมัดสัญญานั้นระหว่างคนนอก (limited commitment) และแม้ว่าเขายินดีจะรับทดแทนบุญคุณ เขาอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเคยมีบุญคุณนั้นเกิดขึ้นจึงไม่กล้ารับการทดแทนบุญคุณนั้น การจดจำบุญคุณระหว่างกันได้อย่างสมบูรณ์ (perfect memory) จึงไม่ได้มีความหมายแค่ระหว่างคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงระหว่างทุกคนในสังคมอีกด้วย (perfect record keeping)
ข้อจำกัดของเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและผูกมัดสัญญาทำให้บุญคุณและข้อมูลที่คล้ายกันไม่สามารถนำมาใช้แทนเงินได้เมื่ออยู่ในสังคมที่มีคนจำนวนมากและมีคนหน้าใหม่ไปมาหาสู่กันตลอดเวลา
นักประวัติศาสตร์พบว่ามีบางสังคมในโลกนี้ใช้บุญคุณแทนเงิน เช่น สังคมชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคใต้ แต่นั่นเป็นเพราะมีคนอยู่ไม่มากและสามารถกำหนดกติกาเรื่องบุญคุณระหว่างกันได้ไม่ยากนัก หากเป็นคนต่างถิ่นที่ไม่เข้าใจในกติกานี้ก็จะอาจจะทำให้เกิดการติดต่อค้าขายกันได้ยากขึ้น ซึ่งในส่วนถัดไปจะชวนคิดว่าจะทำให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าขายจริงหรือไม่
หากเรามาลองใช้คำให้ทันสมัย เมื่อผู้ใช้งาน (user) ต้องการเงินที่สะดวกต่อการใช้งานอย่างแพร่หลาย ก็สามารถกล่าวได้ว่า UX (user experience) ของเงินข้อมูลในยุคนั้นช่างนั้นไม่ดีเสียเลย (ส่วน user interface หรือ UI แทบไม่ต้องพูดถึง) เพราะฐานข้อมูลที่มีอยู่กระจัดกระจาย (fragmented databases) มีเนื้อหาของข้อมูลหลากหลาย และไม่สามารถทำงานข้ามกันได้เลย (lack of interoperability)
สำหรับนักธุรกิจที่ต้องการจะขยายการค้าให้กว้างไกล ก็จำเป็นจะต้องใช้เงินที่แม้แต่คนนอกวงความสัมพันธ์และคนต่างถิ่นก็สามารถยอมรับได้ ไม่จำเป็นต้องถามว่ากำลังซื้อนี้ท่านได้มาแต่ใด พกพาสะดวกปลอดภัยไร้กังวล จึงจะถือว่าเป็น UX ที่ดีสำหรับบริบทของยุคนั้น
เงินทำไมเป็นทอง (คำ)
บุญคุณคือหนี้สินระหว่างกันรูปแบบหนึ่ง ซึ่งภายใต้บางสถานการณ์สามารถนำมาใช้แทนเงินได้ อันที่จริงแล้ว เงินที่เราใช้กันแพร่หลายในชีวิตประจำวัน แท้จริงแล้วก็เป็นหนี้สินประเภทหนึ่งเหมือนกัน
John Pierpont Morgan ชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งธนาคาร JP Morgan ได้เคยกล่าวไว้ว่า “Gold is money. Everything else is credit.” การที่ J. P. Morgan ได้จำแนกทองคำออกมา แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่สังคมยอมรับว่าเป็นเงินมีหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบอาจไม่ได้ทดแทนกันได้เสมอไป
ในยุคที่เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและผูกมัดสัญญามีข้อจำกัด กำลังซื้อที่เก็บในรูปแบบข้อมูลบริสุทธิ์ (pure information) เช่นความทรงจำจึงไม่สามารถแพร่หลายได้อย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องนำกำลังซื้อมาผนวกกับสื่อกลางทางกายภาพ เช่น ทองคำ ทำให้ข้อมูลนั้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
เมื่อเป็นของมีค่าที่สามารถจับต้องได้ ไม่ถูกปลอมแปลงบิดเบือนได้ง่าย สามารถยืนยันการมีอยู่ได้ การยอมรับในมูลค่าจึงเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ดูแล้วคล้ายกับการที่แม้แต่ในปัจจุบันเอง งานศิลปะที่จับต้องได้ก็ยังมักมีมูลค่าเป็นที่ยอมรับมากกว่างานศิลปะดิจิทัล
เงินบุญคุณเป็นหนี้สินระหว่างกัน ทำให้พอจะยอมรับได้ว่าทำไมคนที่มีเงินควรจะได้รับสิทธิประโยชน์ในสังคม เพราะถือว่าได้ทำคุณประโยชน์ที่ถือว่าเป็นบุญคุณในสังคมแล้ว นักเศรษฐศาสตร์จึงเรียกเงินที่มีลักษณะนี้ว่าเงินใน (inside money) เพราะเป็นพันธะที่ยอมรับระหว่างคนในสังคมและระบบเศรษฐกิจ บุญคุณของคนหนึ่งจึงเป็นหนี้บุญคุณของอีกคนหนึ่ง แต่ทองคำล่ะ เป็นหนี้สินของใคร ทำไมสังคมต้องยอมรับ
ทองคำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แน่นอนว่าต้องมีคนเหนื่อยที่ไปร่อนหรือขุดขึ้นมา แต่ทองคำไม่ได้เป็นหนี้สินระหว่างใครกับใคร และไม่ได้เป็นบุญคุณของใครในสังคม แต่ก็เป็นน่าแปลกใจว่าทำไมเราถึงยอมรับว่าคนที่มีทองคำคือคนที่ร่ำรวย เพราะทองคำไม่สามารถบริโภคได้เหมือนก้อนชา เกลือ แพะ หรือวัว ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยทางการผลิตในกระบวนการอุตสาหกรรมเหมือนในปัจจุบัน และบางอารยธรรมให้ค่าสิ่งอื่นมากกว่าทองคำด้วยซ้ำ อย่างเช่น หยก เป็นต้น
และยังมีสังคมที่ยอมรับเปลือกหอย (cowrie shell) หรือก้อนหินมหึมา (rai/fei stones) ซึ่งไม่น่าจะนำไปใช้งานได้เลยเป็นสิ่งมีค่าและนำมาใช้แทนเงินได้เหมือนกัน ทำให้เกิดคำถามว่ามูลค่าในฐานะเงินมาจากไหนหากไม่ได้เป็นหนี้สินระหว่างกัน
เมื่อมีเงินใน ก็ต้องมีเงินนอก (outside money) นักเศรษฐศาสตร์ใช้คำนี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ถูกนำมาใช้แทนเงิน เช่น ทองคำ เปลือกหอย อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีค่าในตัว ไม่ต้องเป็นหนี้สินระหว่างผู้ใด แต่การที่สังคมอุปโลกให้มีค่าดั่งคำกล่าวของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ว่า “เงินทองเป็นของมายา” ก็สามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยในยุคที่เทคโนโลยียังไม่พร้อม เพราะผู้คนต่างใช้สัญลักษณ์นี้ในการทำการค้าขายกันได้อย่างกว้างขวาง ไม่จำเป็นต้องเชื่อในสัญญาระหว่างกัน เพราะเงินนอกถือเป็นสัญญาใจร่วมกันระหว่างคนในสังคมทั้งหมด