สามเส้าที่เข้ากันไม่ได้ 1/n
Impossible Trinity คือทฤษฏีการเงินระหว่างประเทศคลาสสิคที่เป็นพื้นฐานของการจัดการระบบเศรษฐกิจ แต่ในยุค digital age แนวคิดนี้ยังใช้ได้หรือไม่ มีความท้าทายอย่างไรบ้าง เรามาหาคำตอบร่วมกันครับ
สามเส้าที่เข้ากันไม่ได้
ทฤษฏีการเงินระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลมากและได้รับการกล่าวถึงในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งคือ Impossible Trinity ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า ทฤษฏี “สามเส้าที่เข้ากันไม่ได้” เป็นแนวคิดของศาสตราจารย์ Robert Mundell และศาสตราจารย์ John Fleming ที่ต่างคนต่างพัฒนาขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยและได้นำมาถูกเรียบเรียงอย่างเป็นทางการโดยศาสตราจารย์ Rudiger Dornbusch ในปี 1976
แนวคิดนี้กล่าวว่าเมื่อ (สกุล) เงินเป็นที่ต้องการ ราคาของเงินมีสองมิติ ได้แก่สกุลเงินของประเทศหนึ่งเทียบกับอีกประเทศหนึ่ง (อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ) และเงินในปัจจุบันกับเงินในอนาคต (อัตราผลตอบแทน เช่น ดอกเบี้ย และอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือเงินเฟ้อ) ของทั้งสองประเทศ หากเงินของประเทศใดสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่า เช่น ซื้อสินค้าและบริการในปัจจุบันได้มากกว่า หรือสร้างผลตอบแทนที่เป็นกำลังซื้อได้มากกว่า เงินของประเทศนั้นย่อมเป็นที่ต้องการ
หากเงินของประเทศใดมีความต้องการเกินดุลยภาพ ไม่ว่าจะเป็นเพราะด้วยอัตราแลกเปลี่ยนหรืออัตราผลตอบแทนก็ตาม ความต้องการเงินที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ราคาของเงินเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด หากต้องการฝืนกลไกตลาด ไม่ต้องการให้ราคาเปลี่ยน ย่อมหมายถึงการกำหนดกติกาบางอย่างให้เงินนั้นไม่สามารถซื้อขายได้อย่างอิสระ หากใช้ตัวอย่างของสกุลเงินบาทและดอลลาร์ อาจกำหนดให้คนต่างประเทศไม่สามารถนำเงินดอลลาร์มาซื้อบาท หรือห้ามคนไทยนำเงินบาทไปซื้อดอลลาร์ได้อย่างอิสระนั่นเอง ซึ่งอีกนัยหนึ่งของกติกานี้คือเงินทุนไม่สามารถไหลเข้าออกประเทศได้อย่างอิสระ
ทำไมเลือกได้แค่สองจากสาม
การพิจารณาว่าสิ่งใดถูกหรือแพง สามารถดูได้จากราคาที่เป็น และราคาที่ควรจะเป็น ในบริบทราคาของเงินในมุมของอัตราแลกเปลี่ยน การที่ค่าเงินบาทมีความแข็งแกร่งเทียบกับดอลลาร์มากผิดปกติ หมายถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ประกาศให้ใช้กันอย่างเป็นทางการแตกต่างจากราคาที่ผู้คนอยากซื้อขายจริง ๆ เช่น ประกาศไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ แต่ราคาที่อยากซื้อขายกันอยู่ที่ 30 บาท คนที่ขายดอลลาร์ในอัตราแลกเปลี่ยนทางการก็จะขายในราคาที่ต่ำมากกว่าที่ควรจะเป็น แล้วใครล่ะที่จะเป็นคนขายในราคานี้
ในกรณีนี้จะต้องมีเจ้าภาพที่ยอมขายดอลลาร์ในราคาที่ขาดทุนตลอดเวลาทั้ง ๆ ที่ควรได้รับรายได้มากกว่านี้ การฝืนไม่ยอมปรับราคาตามกลไกตลาดก็จำเป็นจะต้องตุนดอลลาร์จำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการซื้อ
สิ่งที่เจ้าภาพหวังจากการยอมขายขาดทุนก็เพื่อจะทำให้ผู้ค้าเงินรายอื่นยอมขายดอลลาร์ที่ราคา 25 บาทบ้าง เพราะเชื่อว่าไม่มีประโยชน์ที่จะขายแข่ง หากเป็นเช่นนั้น ราคาดอลลาร์ก็จะกลายเป็น 25 บาท ผู้คนก็จะสะดวกใจในการซื้อขายดอลลาร์ได้ที่ราคา 25 บาท จากทุก ๆ ที่โดยไม่ต้องเกิดความกังวลว่าวันพรุ่งนี้ราคาดอลลาร์จะเป็นเท่าไร หากทำการค้าระหว่างประเทศก็จะทำได้สะดวกขึ้น
แต่ทำไมทุกคนถึงจะยอมรับอัตราแลกเปลี่ยนที่ 25 บาท ทั้ง ๆ ที่มีคนพร้อมซื้อขายในราคา 30 บาทล่ะ ก็เป็นเพราะว่าอัตราแลกเปลี่ยนนี้ไม่ได้ใช้ได้กับทุกคน หากต้องการจำกัดอัตราแลกเปลี่ยนเฉพาะที่ใช้กันในประเทศ ไว้ที่ 25 บาท ก็พอจะทำได้ เพราะคนที่ซื้อไปในราคานี้ไม่สามารถนำไปขายต่อที่นอกประเทศในราคา 30 บาทได้
ข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งหมายถึงการไม่อนุญาตให้เงินทุนไหลเข้าออกประเทศได้อย่างอิสระเช่นนี้ก็สามารถทำให้มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทสองอัตราได้ ถือว่าแยกเป็นคนละตลาดกัน และในทางกลับกัน หากไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ก็จะมีคนทั้งในและนอกประเทศมาซื้อดอลลาร์ไปในราคา 25 บาทเพื่อขายทำกำไรที่ 30 บาทได้ หากดอลลาร์ที่เจ้าภาพได้สำรองไว้หมดหน้าตัก ก็จะมีใครที่ยอมขายดอลลาร์ให้ในราคา 25 บาทอีกต่อไป หากต้องการดอลลาร์ก็จะต้องซื้อในราคาตลาด
แต่หากต้องการให้ทุกคนไม่ว่าคนต่างประเทศหรือในประเทศสามารถซื้อดอลลาร์ได้ที่ราคา 25 บาทได้อย่างอิสระล่ะ สามารถทำได้หรือไม่
อีกมิติหนึ่งของราคาของเงินคืออัตราผลตอบแทน หากเพิ่มอัตราผลตอบแทนของบาทเทียบกับดอลลาร์ ความต้องการบาทก็จะสูงขึ้นจนทำให้บาทแข็งค่าขึ้น อาจไปถึง 25 บาทเลยก็ได้ หากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทในทุก ๆ ที่เหมือนกัน ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะมาซื้อดอลลาร์จากเจ้าภาพแต่อย่างไร ทำให้สามารถรักษาอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 25 บาทได้
แต่การรักษาอัตราแลกเปลี่ยนนี้ก็ย่อมต้องแลกกับการที่ต้นทุนทางการเงินของคนที่ต้องการทำธุรกิจในเงินบาทจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เพราะอัตราผลตอบแทนสำหรับคนที่ลงทุนในเงินบาท ก็คือต้นทุนของเงินทุนสำหรับคนที่ระดมทุนเป็นเงินบาทด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าหลักการของทฤษฐี Impossible Trinity เป็นสิ่งที่ว่าด้วยดุลยภาพตามแนวความคิดของเศรษฐศาสตร์ และทั้งสามเส้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้พร้อม ๆ กันในดุลยภาพ จำเป็นจะต้องเลือกสละอย่างใดอย่างหนึ่งไป การจะเลือกสิ่งใดก็ขึ้นอยู่กับผลกระทบการของการสละเส้านั้นไป
ขอเลือกสามเลยได้ไหม
แน่นอนว่าไม่ได้
ในบริบทของประเทศไทยในยุคก่อนวิกฤตการเงินปี 1997 การดำเนินนโยบายการเงินให้เงินทุนสามารถไหลเข้าออกจากประเทศได้อย่างสะดวก อาจไม่ถึงกับเสรีเต็มรูปแบบ แต่ก็มีแรงเสียดทานน้อยมาก โดยที่กำหนดราคาของเงินบาททั้งในรูปแบบอัตราแลกเปลี่ยนและผลตอบแทน จึงถือเป็นการเลือกทั้งสามเส้าพร้อม ๆ กัน
จากที่เห็นก่อนหน้านี้ เพราะเรื่องของสามเส้าว่าด้วยเรื่องของการไหลเวียนของเงินด้วยราคาในมิติต่าง ๆ ปัจจัยที่สามารถทำให้ฝืนดุลยภาพได้คือสำรอง ผลของการฝืนดุลยภาพจะตกอยู่กับเจ้าภาพที่ต้องซื้อและขายเงินบาทตามราคาที่กำหนด เมื่อค่าเงินบาทจริงแข็งกว่าราคาที่กำหนดเพราะผู้คนจะนำดอลลาร์มาขายแลกกับเงินบาท และดอลลาร์ที่ซื้อก็จะถูกสะสมไว้ในสำรอง และเมื่อค่าเงินบาทจริงอ่อนกว่าราคาที่กำหนดก็สามารถรักษาสถานะไว้ได้หากมีดอลลาร์ในสำรองพร้อมที่ขายตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม เงินบาทเป็นสิ่งที่ประเทศสามารถผลิตได้ ในขณะที่เงินดอลลาร์จำเป็นต้องไปหามา การทำค่าเงินที่แข็งให้อ่อนเป็นเรื่องง่าย แต่การทำให้ค่าเงินที่อ่อนกลับมาแข็งต้องใช้เงินตราต่างประเทศ เมื่อเงินดอลลาร์หมดสำรองก็ไม่อาจสร้างความมั่นใจได้ จึงจำเป็นต้องเลือกว่าจะปล่อยสิ่งใดในสามเส้าไปในที่สุด ซึ่งในที่สุดแล้วประเทศไทยก็ได้ยุติการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและคงไว้ซึ่งความสามารถในการกำหนดอัตราผลตอบแทนในประเทศและอิสระในการเคลื่อนย้ายเงิน
อัตราเงินเฟ้อกับราคาของเงิน
สินค้าและบริการต่างถูกวัดค่าด้วยเงิน การที่สินค้าและบริการเดิมมีราคาเปลี่ยนแปลงหมายความกำลังซื้อของเงินในจำนวนเดิมมีความไม่แน่นอน อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ภาวะที่ราคาสูงขึ้นเรียกว่าเงินเฟ้อ ส่วนภาวะที่ราคาลดลงเรียกว่าเงินฝืด
หากผู้คนคาดการณ์ว่าเงินในอนาคตจะลดค่าลงเพราะเงินเฟ้อ การกำหนดอัตราผลตอบแทนของการไม่ใช้กำลังซื้อที่มีในปัจจุบันแต่นำไปออมหรือลงทุนเพื่อให้มีกำลังซื้อมากขึ้นในอนาคต จะต้องพิจารณาผลของเงินเฟ้อเข้าไปด้วย เช่น ปัจจุบันเรามีเงิน 1,000 บาท หากนำไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี เมื่อผ่านไป 1 ปีก็จะมีเงิน 1,100 บาท แต่หากราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี การจะซื้อสินค้าและบริการในปีหน้าจะก็จะต้องมีเงิน 1,050 บาท ทำให้กำลังซื้อของเราเพิ่มขึ้น 1,100 / 1,050 - 1 = 4.76% เท่านั้น อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงจึงต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่ระบุไว้เพราะอัตราเงินเฟ้อ ทำให้สามารถพิจารณาเป็นความสัมพันธ์คร่าว ๆ ได้ดังนี้
อัตราผลตอบแทนที่ระบุไว้ ~ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง + อัตราเงินเฟ้อ
ตัวอย่างการเพิ่มอัตราแลกเปลี่ยนของเงินในอนาคตโดยผู้ดูแลระบบเศรษฐกิจที่เพื่อเพิ่มความต้องการของเงินบาทที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้สามารถส่งผลการต่อแรงจูงใจของผู้คนได้ ซึ่งนอกจากต้นทุนของเงินทุนสำหรับผู้ที่ระดมทุนเป็นเงินบาทแล้ว ก็ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจบริโภคของผู้คนด้วย เมื่ออัตราผลตอบแทนสูงขึ้นก็อาจเสียดาย และชะลอการซื้อสินค้าและบริการได้ ทำให้กิจการโดนซ้ำเติมจากทั้งต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและรายได้ที่น้อยลง
แต่หากมีกิจการที่นำเข้าสินค้ามาเป็นดอลลาร์และกู้ยืมเป็นดอลลาร์แต่มีรายได้เป็นบาท การรักษาอัตราแลกเปลี่ยนจะทำให้ต้นทุนของกิจการเหล่านั้นคงที่ และมูลหนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อแปลงเป็นเงินบาทด้วย
ได้อย่าง ก็ต้องเสียอย่าง การตัดสินใจของผู้ดูแลนโยบายจึงมีความท้าทายเสมอเพราะไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์จากการตัดสินใจ
ใครเป็นคนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ
การออมและลงทุนเป็นการเชื่อมโยงปัจจุบันกับอนาคต ความสำคัญของอัตราเงินเฟ้อในบริบทนี้จึงเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในอนาคตที่คาดการณ์ ไม่ใช่อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในอดีต ดังนั้นการทำความเข้าใจว่าผู้คนในระบบเศรษฐกิจคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตอย่างไรจึงเป็นเรื่องสำคัญ
หากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตส่งผลต่อมุมมองของอนาคต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นชั่วครู่ชั่วคราว เช่น การเกิดภัยแล้งทำให้พืชผลราคาสูง แต่ภัยแล้งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ การที่ราคาพืชผลปรับตัวขึ้นในปีนี้ก็ไม่หมายความว่าปีหน้าจะราคาจะสูงต่อ แล้วผู้คนควรจะคาดการณ์อย่างไร
ในทางกลับกับ ราคาอาจเป็นสิ่งที่เพิ่มได้แต่ลดยาก เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการลด ทำให้เกิดความหนืดในการปรับราคา (price stickiness) เมื่อสินค้าและบริการราคาเพิ่มแล้วกลับยากที่จะลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อกลายเป็นเงินฝืดได้ยากขึ้น
อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ควรส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนที่ต้องการและอัตราต้นทุนของเงินทุนของกิจการ แต่ใครล่ะ ที่เป็นผู้กำหนดอัตราผลตอบแทนในระบบเศรษฐกิจ หากธนาคารกลางปรับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางมีอิทธิพลโดยตรง (ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดการลงทุนทั้งหมด) ทำไมอัตราผลตอบแทนในประเทศจึงจะเปลี่ยนตาม
นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่ว่านี้ เฟ้อสำหรับใคร การวัดอัตราเงินเฟ้อผ่านดัชนี Consumer Price Index (CPI) ของศาสตราจารย์ Fisher เป็นประโยชน์ในอดีตเมื่อการสืบค้นข้อมูลมีข้อจำกัด ทำให้การตัดสินใจของผู้ดูแลระบบเศรษฐกิจต้องใช้ข้อมูลในภาพรวม แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละกลุ่มในระบบเศรษฐกิจย่อมได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน หากสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อผู้คนในบางพื้นที่มีการปรับตัวมากกว่า มาตรวัดแบบเดิมก็ไม่อาจฉายภาพนี้ให้ปรากฏได้
ศาสตราจารย์ George E. P. Box นักสถิติชาวสหราชอาณาจักร ได้กล่าวไว้ว่า
All models are wrong, but some are useful.
แบบจำลองสถิติมีไว้เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลไกบางอย่าง เช่น จำนวนนักท่องเที่ยว หรือกระบวนการตัดสินใจของผู้บริโภค ไม่ได้สามารถเข้าถึงสัจธรรมได้ แต่หากคาดการณ์บางอย่างได้ดีพอ ก็สามารถเป็นประโยชน์ได้เช่นกัน
แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคก็เป็นเช่นกัน ซึ่งในอดีตนั้น แบบจำลองมักทำให้เรียบง่ายที่สุดและมีกลไกเท่าที่จำเป็นเพื่อให้นักวิจัยสามารถใช้กระบวนการคณิตศาสตร์วิเคราะห์ได้ มีไว้เพื่อทำความเข้าใจเป็นประเด็น ๆ ไป
แบบจำลองของศาสตราจารย์ Dornbusch เองก็กำหนดกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจไว้คร่าว ๆ ไม่ได้มีการจำแนกภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจออกมา มีการกำหนดพฤติกรรมของ “ตัวแทน” ในระบบเศรษฐกิจ (representative agent) แบบคร่าว ๆ เช่น ครัวเรือน เอกชน แต่ละภาคส่วนมีขั้นตอนการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล (rational) และสินทรัพย์ต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจรวมถึงสิ่งใช้แทนเงินก็ไม่ได้มีการจำแนกออกมาด้วย อีกทั้งมักเป็นการวิเคราะห์โดยมีสมมุติฐานว่าสถานะของระบบเศรษฐกิจอยู่ในดุลยภาพ (หรือพยายามจะปรับเข้าสู่ดุลยภาพ)
ในยุคนั้นการทำความเข้าใจด้วยแบบจำลองเช่นนี้สามารถทำให้นักเศรษฐศาสตร์และผู้ดูแลนโยบายเข้าใจความเป็นไปของระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ความเป็นไปของเศรษฐกิจเป็นผลลัพธ์รวมของการตัดสินใจของผู้คนในระบบเศรษฐกิจนั้น หากพฤติกรรมของแต่ละคนมีความหลากหลาย ไม่ได้เป็นไปตามพฤติกรรมของตัวแทนที่กำหนด ไม่ได้มีเหตุผลเสมอ และสถานะของระบบเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในดุลยภาพ กรอบความคิดแบบเดิมอาจใช้ไม่ได้
ในปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์จึงพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมและการตัดสินใจของผู้คนแต่ละกลุ่มอย่างละเอียดขึ้น จากที่เดิมตัดสินใจจากค่า 10 ที่เป็นผลรวม ก็หันมาพิจารณาว่าค่านี้มาจาก 5+5 หรือ 20-10 ทั้งสองมีผลรวมที่เท่ากัน แต่มีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน ซึ่งรายละเอียดของค่าที่นำมารวมแต่ละกลุ่มอาจมีความสำคัญไม่เท่ากัน ก็เป็นได้
อุปมาอุปมัยเหมือนการเปลี่ยนแนวคิดให้เป็นนักเดินทางที่ไม่ได้สนใจแต่เพียงจุดหมาย แต่ให้ความสำคัญกับเส้นทางที่ต้องเดินผ่านด้วยนั่นเอง