เงินทองของมีค่า 1/n
ในปัจจุบันมีเงินหลากหลายรูปแบบมาก ใน newsletter ชุดนี้ เราจะชวนคุยกันว่าเงินคืออะไร ทำไมต้องมีเงิน เพื่อให้เห็นถึงแก่นของปัญหาที่นำมาซึ่งการแก้ไขด้วยเงินครับ
เงินคืออะไร ทำไมต้องมีเงิน
ในปัจจุบันเงินเป็นสิ่งที่แทบขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน มักมีคำพูดว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้ แต่ซื้อความปลอดภัยให้กับคนที่เรารักได้” หรือ “เงินซื้อเราไม่ได้… หากไม่หากพอ” เพราะมนุษย์ในยุคปัจจุบันมีความต้องการหลายอย่างมากที่ไม่สามารถเติมเต็มด้วยตนเองได้ และเงินเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ต้องการได้ แต่ว่าเงินมาจากไหน อะไรเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับเงินนั้น
ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” ซึ่งคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงว่าคนเราต้องการสิ่งของสินค้าและบริการต่างหาก แต่เรากำหนดร่วมกันว่าให้ใช้เงินในการแลกเปลี่ยน ซึ่งเงินนั้นอาจจะอุปโลกขึ้นมาเองก็ได้
ตำราเศรษฐศาสตร์มักเล่าจุดกำเนิดของเงินจากสังคมแลกเปลี่ยนที่ไม่มีเงิน เมื่อไม่มีเงิน ผู้คนต่างต้องสรรหาสินค้าและบริการเพื่อแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ต้องหาผู้ที่ต้องการแลกเปลี่ยนให้พบ และต้องกำหนดราคาซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนของสินค้าและบริการต่างๆ และต้องรีบตามหากันจนเจอก่อนที่สินค้าที่มีจะสูญสลายไปในที่สุด คนมีปลาอยากแลกข้าว แต่คนมีข้าวอยากแลกเกลือ มีแค่ 2 คนก็แลกกันไม่ได้ หากมีพบคนมีเกลือที่อยากแลกปลา ก็จะทำให้คนมีปลาแลกข้าวได้ในที่สุดเมื่อแลกวนกันไประหว่างกัน 3 คน
แค่มีปลา ข้าว และเกลือ ก็ยุ่งยากขนาดนี้แล้ว หากมีสินค้าและบริการที่ต้องการมากกว่านี้ และมีคนมากกว่านี้ กว่าจะหากันจนเจอแล้วแลกกันได้ครบก็คงวุ่นวาย ใครมีปลาก็รีบต้องหน่อย ก่อนที่ปลาจะหายสดหรือเน่าไป ส่วนใครมีเกลือก็ไม่ต้องรีบมาก การที่มีเงินจึงทำให้ต่างคนต่างสามารถใช้เงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องการหากันให้เจอ และขอเพียงประเมินมูลค่าของสินค้าและบริการด้วยเงินได้ ไม่ว่าบริการอะไรที่คนให้ค่าก็เกิดขึ้นได้อย่างง่าย นักเขียนก็ไม่จำเป็นต้องหาปลาเป็น นักกีฬาก็ไม่จำเป็นต้องปลูกข้าว เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องหาความรู้ด้านการแพทย์ และคนขายปลาไม่ต้องเป็นคนตกปลาก็ยังได้ ทำให้เกิดอาชีพขึ้นหลากหลายในสังคมและสามารถลดข้อจำกัดด้านระยะทาง ทำให้สามารถแผ่ขยาย Supply Chain ได้ เพราะเงินสามารถซื้อทุกสิ่งได้ในระบบเศรษฐกิจจากทุกที่ ๆ เงินนั้นได้รับการยอมรับ
การใช้เงินเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) และหน่วยวัดทางบัญชี (unit of account) ในการกำหนดราคาจึงทำให้ผู้คนไม่จำเป็นต้องหาสินค้าและบริการมาแลกกัน สามารถขายสินค้าหรือให้บริการแลกกับเงินซึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ในอนาคตได้ (store of value) ในที่สุด ทำให้เงินที่ถูกใช้กันแพร่หลายมักมีคุณสมบัติทั้ง 3 ประการนี้ และแต่ละสังคมจึงได้ตกลงร่วมกันว่าจะใช้สิ่งใดแทนเงิน ซึ่งมักจะเป็นของที่สวยงาม เช่น ทองคำ เป็นที่ต้องการ เช่น ก้อนชา มีความคงทน เช่นเกลือ และหายากมากพอ ทำให้คนยอมรับได้ว่าคนที่หาเงินมาได้ก็สามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยได้
บุญคุณต้องทดแทน
หากเงินเป็นสิ่งที่แลกสินค้าและบริการได้ แล้วบุญคุณล่ะ สามารถใช้แลกได้หรือไม่ มักมีคำสอนว่าว่า “บุญคุณต้องทดแทน” (ส่วนแค้นก็ให้อภัยกันไป…) การทดแทนบุญคุณกันถือว่าเป็นการชำระแทนเงินได้หรือไม่ คนมีปลาที่อยากแลกข้าว หากมีเงิน ก็สามารถใช้เงินซื้อข้าวได้ แต่หากมีบุญคุณ ก็น่าจะสามารถนำบุญคุณมาแลกข้าวได้ โดยที่ผู้ให้ข้าวก็จะถือเป็นผู้ที่ได้สร้างบุญคุณแล้ว สามารถสะสมแต้มบุญคุณเพื่อนำไปใช้ต่อได้
หากเราคิดว่าบุญคุณมีค่าและบุญคุณคงทน (store of value) บุญคุณจำเป็นต้องเป็นหน่วยวัดทางบัญชี (unit of account) และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) หรือไม่
เรามาเริ่มจากคำถามแรกกันก่อน การเป็นหน่วยวัดทางบัญชีนั้น จริงๆ แล้วสิ่งใดก็สามารถนำมาใช้เป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ในต้นศตวรรษที่ 20 หลายพื้นที่ในทวีปแอฟริกาก็ใช้แพะและวัวเป็นหน่วยวัดทางบัญชี ราคาของสินค้าต่าง ๆ มีอัตราแลกเปลี่ยนเปรียบเทียบเป็นแพะหมดโดยที่ไม่จำเป็นต้องชำระเป็นแพะ และใช้สิ่งอื่นเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) ก็ได้ บ่งชี้ให้เห็นว่าไม่สิ่งใดก็ตาม ขอแค่วัดปริมาณได้ก็สามารถใช้เป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ซึ่งในกรณีนี้จะเรียกว่าเป็น Goat Standard หรือ “มาตรฐานแพะ” คล้าย Gold Standard หรือมาตรฐานทองคำที่ตรึงมูลค่าของเงินผ่านปริมาณทองคำ ซึ่งจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป
ขอแค่เรามีอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบุญคุณกับหน่วยวัดทางบัญชีใดก็ตามที่ตกลงใช้กันเป็นมาตรฐาน บุญคุณก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องเป็นหน่วยวัดทางบัญชี และในทางกลับกัน บุญคุณก็สามารถเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ หากมีการตกลงและยอมรับกันอย่างกว้างขวาง
คำถามถัดมาคือ บุญคุณสามารถรักษามูลค่าได้หรือไม่ (store of value) หากบุญคุณมีการลืมเลือน ก็อาจจะทำให้คุณค่าลดลงได้ แต่หากทุกคนในสังคมนี้มีความจำดี ก็ไม่มีอุปสรรค แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าบุญคุณนี้เมื่อทดแทนแล้วขอให้หมดไป ไม่มาลำเลิกบุญคุณกันอีกในอนาคต มิเช่นนั้นก็เหมือนมีเงินที่ใช้แล้วไม่มีวันหมด ต้องตามชดใช้หนี้บุญคุณไม่จบสิ้น นำบุญคุณมาใช้ซ้ำซ้อน ก็ทำให้เกิดความสงสัยได้ว่าทำไมจะต้องให้คุณค่ากับเงินของคน ๆ นั้นด้วย
และสุดท้าย เมื่อบุญคุณสามารถใช้ชำระได้จริง การทดแทนบุญคุณก็เสมือนเป็นการตัดบัญชีระหว่างกัน ไม่จำเป็นจะต้องมีสัญลักษณ์ของบุญคุณที่เป็นรูปธรรมก็สามารถเกิดการรับชำระกันได้ ดังนั้งจะเห็นได้ว่าความเป็นสื่อกลางในการชำระ (medium of exchange) นั้นไม่ได้มีความจำเป็นเสมอไป
บุญคุณระหว่างกันถือเป็นข้อมูลประเภทหนึ่งซึ่งแสดงว่าใครควรจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่จะสามารถนำไปซื้อสินค้าและบริการได้ในสังคม (เรียกว่า “กำลังซื้อ” ก็ได้) หากจำบุญคุณระหว่างกันได้อย่างสมบูรณ์ (perfect memory) เงินก็คือความทรงจำ (Money is Memory) หรือข้อมูลประเภทหนึ่งนั่นเอง ถ้าอย่างนั้นเมื่อสามารถใช้ข้อมูลแทนเงินได้แล้ว ของมีค่าเช่นทองคำยังมีความจำเป็นในฐานะเงินอยู่ไหม ใน newsletter ฉบับหน้าเราจะมาหาคำตอบกันครับ